วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น.ที่ห้องประชุมพระมงคลมิ่งเมือง ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นางรัชชุมา บุตรโพธิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ นายธนูสินธ์ ไชยสิริ นายศิริพันธ์ ขุ่มด้วง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานนโยบายสำคัญของรัฐบาล และผลการปฏิบัติราชการในระดับพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ รวมถึงติดตามการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนเละพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ โดยมีพัฒนาการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นเลขาคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) อำนาจเจริญ พร้อมคณะกรรมการ ศจพ.จ และพัฒนาการอำเภอ ร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน
นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายคือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยให้ทุกจังหวัดใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform) หรือ TPMAP เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน และต้องสำรวจผู้ได้รับความเดือดร้อนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้ครบ โดยปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้จำกัดเพียงแค่มิติด้านรายได้เท่านั้น แต่ครอบคลุมความเดือดร้อนทุกเรื่อง อาทิ บ้านที่อยู่อาศัย ไม่มีทะเบียนบ้าน ปัญหายาเสพติด เงินกู้นอกระบบ การไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมีแนวทางการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 6 ขั้นตอนได้แก่ขั้นตอนที่ 1 การสร้างกลไกมีทีมปฏิบัติการขับเคลื่อนงานทั้งระดับจังหวัดระดับอำเภอ ขั้นตอนที่ 2 จำนวนและการตรวจสอบข้อมูล ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแผนครัวเรือน ขั้นตอนที่ 4 มีการบันทึกแผนงานโครงการในระบบ ขั้นตอนที่ 5 บูรณาการความช่วยเหลือเป็นการแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอและขั้นตอนที่ 6 การรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความยากจนฯ ระดับจังหวัด
ซึ่งจังหวัดอำนาจเจริญ มีจำนวนเป้าหมายครัวเรือนยากจนและระบบ TPMAP จำนวน 1,556 ครัวเรือน ได้แก่ สุขภาพ จำนวน 284 ครัวเรือน การเข้าถึงบริการภาครัฐ จำนวน 15 ครัวเรือน ปัญหาด้านรายได้ จำนวน 746 ครัวเรือน ด้านการศึกษา จำนวน 267 ครัวเรือน ความเป็นอยู่ จำนวน 271 ครัวเรือน โดยจังหวัดอำนาจเจริญ มีแผนการขับเคลื่อนงานเพื่อขจัดความยากจนดังกล่าว ตามโครงการอำนาจเจริญเกื้อกูลเพิ่มพูนความสุข คู่บัดดี้ ( Buddy) ได้แก่ จัดทำแผนพัฒนาครัวเรือน โดยทีมพี่เลี้ยง คอยกำกับดูแลให้ทุกหน่วยงานบูรณาการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจน เป้าหมายตามสภาพปัญหาพร้อมกับบันทึกภาพให้ความช่วยเหลือในระบบ TPMAP ตั้งแต่เดือนมีนาคม - กันยายน 2565 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนโครงการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนเป้าหมาย และรายงานผลให้ฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้ทราบเป็นระยะๆ
ช่วงบ่ายหลังการประชุม ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหามิติด้านสุขภาพ จำนวน 2 ครัวเรือน ประกอบด้วย ครัวเรือนของ นางนภัสชา อ่อนสา บ้านเลขที่ 10 บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ 8 ตำบลนาจิก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ โดยส่งเสริมให้ประกอบอาชีพ ขายอาหารตามสั่งและขายลูกชิ้นทอด โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบเตาแก๊ส และถังแก๊ส เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ จากนั้นได้เดินทางไปยังครัวเรือนของ นางสวาส มงคลมาตย์ หมู่ที่ 4 ตำบลดอนเมย อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ส่งเสริมอาชีพจักรสานมวยนึ่งข้าว พร้อมกันนี้ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มอบทุนการศึกษาให้กับ ครอบครัวของนางสวาส มงคลมาตย์ ซึ่งมีหลานด้วยกัน 2 คน จากนั้น ออกเดินทางไปยัง อำเภอหัวตะพาน มอบบ้านให้แก่ นางพัฒนา เชื้อทอง บ้านเลขที่ 35 บ้านโต่งโต้น หมู่ที่ 5 ตำบลรัตนวารี อำเภอหัวตะพาน เป็นการแก้ไขปัญหาในด้านมิติที่อยู่อาศัย
ก่อนเดินทางกลับ ได้แวะเยี่ยมร้าน Thorr ตำบลรัตนวารี ซึ่งเป็นร้านกาแฟ และ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นกก อาทิ กระเป๋า หมวก เก๋ไก๋ สวยงาม ภายใต้แบรนด์ Thorr เกิดจากแรงบันดาลใจจากงานหัตถกรรมร่วมสมัย มีงาน craft สวยๆ จากช่างฝีมือในชุมชนต่างๆกว่า 6 หมู่บ้านในจังหวัดอำนาจเจริญ ที่พัฒนาร่วมกับแบรนด์ Thorr มานานกว่า 3 ปี จนกลายเป็นหัตถกรรมเสื่อกก ที่สวยงดงาม
***********************************************************************************************************สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอำนาจเจริญ
วันนี้ (18 พฤษภาคม 2565) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมศาลจังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ นายเรวันต์ แก่นภักดี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอำนาจเจริญ และนายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อประสานงานระหว่างศาลจังหวัดอำนาจเจริญ กับจังหวัดอำนาจเจริญ ในการพัฒนาระบบคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา จำเลย และประชาชน โดยมี คณะข้าราชการตุลาการ นางอนัญญา ซองทอง ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลจังหวัดอำนาจเจริญ นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ ปลัดจังหวัดอำนาจเจริญ และหัวหน้าส่วนราชการร่วมในพิธี
ศาลจังหวัดอำนาจเจริญ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อการประสานงานระหว่างศาลจังหวัดอำนาจเจริญกับจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยรวมถึงประชาชนในจังหวัดอำนาจเจริญ เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสิทธิ เข้าใจระบบการปล่อยชั่วคราว ระบบการไกล่เกลี่ย ก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี และเข้าใจสิทธิในฐานะผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 อีกทั้งเพื่อรองรับการปฏิบัติตามคำสั่งศาลกรณีมีคำสั่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว (กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) โดยมีหน้าที่ช่วยยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลย ช่วยเหลือกำกับดูแลผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว หรืออาจช่วยเป็นผู้รับรายงานตัวตามกำหนดนัดของศาล จึงถือเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อย ชั่วคราว ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา
********************************************************************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอำนาจเจริญ
วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลน้ำปลีก สำนักงานเทศบาลตำบลน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ใช้บริการของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำปีงบประมาณ 2565 กิจกรรมการประชุมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ใช้บริการของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อมเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมเทศบาลตำบลน้ำปลีก โดยมี นายธนูศักดิ์ เสมอภาค นายอำเภอเมืองอำนาจเจริญ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ท้องที่ คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ องค์กรคนพิการ อาสาสมัครเครือข่ายด้านคนพิการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
นางเบญจมาศ หะยาจันทา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในวันนี้ว่าภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2555 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ได้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อเป็นทุนสำหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยจัดสรรได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลาง จึงได้จัดโครงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจผู้ใช้บริการของกองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 7 รุ่นๆ ละ 50 คน ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ โดยในวันนี้จัดขึ้นที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลน้ำปลีก สำนักงานเทศบาลตำบลน้ำปลีก ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นรุ่นที่ 1 เพื่อให้คนพิการและประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงการให้บริการของกองทุนฯคนพิการ ได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการของกองทุนฯคนพิการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพด้านต่างๆที่เหมาะสมกับพื้นที่ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย คนพิการ ผู้ดูแลคนพิการ องค์กรคนพิการ อาสาสมัครเครือข่ายด้านคนพิการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวม 50 คน ระยะเวลาดำเนินการโครงการรุ่นละ 1 วัน มีกิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของจังหวัดอำนาจเจริญ การเข้าถึงบริการด้านต่างๆของกองทุนฯคนพิการ การให้ความรู้เกี่ยวกับสวัสดิการและสิทธิหน้าที่คนพิการตามกฎหมายการของบประมาณจากกองทุนฯคนพิการ และการให้บริการกู้ยืมเงินกองทุนฯ
พร้อมกันนี้ได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมเทศบาลตำบลน้ำปลีกโดยจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพัฒนายกระดับ เพื่อให้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปและองค์กรอื่นๆ ด้านสังคมในพื้นที่ได้มีการบูรณาการการให้บริการในศูนย์เดียวให้ครอบคลุมทุกภารกิจของทุกส่วนราชการ ในการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง โดยได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมเทศบาลตำบลน้ำปลีกขึ้น ในพื้นที่เทศบาลตำบลน้ำปลีก (อาคารพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพสูงอายุตำบลน้ำปลีก) ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล 1 ใน 7 พื้นที่นำร่องของจังหวัดอำนาจเจริญ
เมื่อวันที่ (13 พฤษภาคม 2565 ) ที่พุทธอุทยานพระมงคลมิ่งเมือง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วย นางรัชชุมา บุตรโพธิ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอำนาจเจริญ นำพุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้งแด่พระภิกษุสงฆ์ เนื่องในวันวิสาขบูชา พุทธศักราช 2565 จังหวัดอำนาจเจริญและนำประกอบพิธีถวายเครื่องราชสักการะและเวียนเทียนเนื่องในวันครบรอบพิธีพุทธาภิเษกพระมงคลมิ่งเมืองและสถาปนาพุทธอุทยานครบรอบ 57 ปี โดยมีพระครูสารธรรมคุณาภรณ์ (คำ จนฺทสาโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสำราญนิเวศ เจ้าคณะอำเภอเมืองอำนาจเจริญ (ธรรมยุต) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์นำพระสงฆ์ออกรับบิณฑบาตและนำประกอบพิธีถวายเครื่องราชสักการะและเวียนเทียน
จังหวัดอำนาจเจริญโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอำนาจเจริญ จัดกิจกรรมพิธีทำบุญถวายเครื่องสักการะเนื่องในวันครบรอบพิธีพุทธาภิเษกพระมงคลมิ่งเมืองและสถาปนาพุทธอุทยาน 57 ปีและกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา พุทธศักราช 2565 จังหวัดอำนาจเจริญ ประกอบด้วย กิจกรรมทำบุญตักบาตรและกิจกรรมถวายเครื่องราชสักการะและเวียนเทียนเนื่องในวันครบรอบพิธีพุทธาภิเษกพระมงคลมิ่งเมืองและสถาปนาพุทธอุทยาน 57 ปี "พระมงคลมิ่งเมือง” หรือที่มักเรียกกันโดยทั่วไปว่า "พระใหญ่” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ บริเวณที่ประดิษฐานพระมงคลมิ่งเมืองในปัจจุบันนี้ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 144 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา แต่เดิมเรียกว่า "เขาดานพระบาท" ถือเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์มาแต่ครั้งโบราณ ต่อมาพระธรรมฐิติญาณ หรือหลวงปู่บู่ เจ้าคณะภาค 10 ฝ่ายธรรมยุต ในขณะนั้น ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนก่อสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ขึ้น จนแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2508 ให้ชื่อว่า "พระมงคลมิ่งเมือง "ถือเป็นพระพุทธรูปสำคัญยิ่งของชาวอำนาจเจริญและจังหวัดใกล้เคียงมาจนถึงปัจจุบัน และด้วยเหตุผลที่มีพื้นที่กว้างขวาง ร่มรื่น จึงเรียกบริเวณนี้ว่า "พุทธอุทยาน " พระมงคลมิ่งเมืองเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาวจังหวัดอำนาจเจริญหากสาธุชนท่านใดได้มาเยือนแล้วไม่ได้ไปกราบนมัสการถือเสมือนว่ายังเดินทางมาไม่ถึงจังหวัดอำนาจเจริญการกราบขอพรจากองค์พระมงคลมิ่งเมืองส่วนมากนิยมขอพรให้คลายความทุกข์โศกร้อนใจและบนบานให้ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ นอกจากนี้ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมืองมีพระพุทธรูป 2 องค์ มีนามว่า พระละฮาย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระขี่ลาย หมายถึง ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเพื่อทําฝายกั้นน้ำ ถือกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ชาวบ้านมักมาบนบานขอพรอยู่เสมอ
วันนี้ (12 พฤษภาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ห้องอำนาจเจริญ ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ ชั้น 3 นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญเป็นประธานในพิธี รับพระราชทานพระพลังแผ่นดิน เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี โดยมี นายธนูสินธ์ ไชยสิริ นายศิริพันธ์ ขุ่มด้วง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ ปลัดจังหวัดอำนาจเจริญพร้อมด้วยนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ เข้าร่วมในพิธีรับพระราชทานพระพลังแผ่นดินในครั้งนี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดพิธีพระราชทาน “พระพลังแผ่นดิน” ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนส่วนราชการ และหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อวันอังคารที่ 19 เมษายน 2565 ณ อาคารบัญชาการ หน่วยราชการในพระองค์ 904 พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อเชิญไปจัดพิธีรับพระราชทานพระพลังแผ่นดินให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เข้าร่วมพิธีรับพระราชทานพระพลังแผ่นดิน เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเพื่อเชิญไปจัดพิธีรับพระราชทานพระพลังแผ่นดินให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ ณ สถานที่ที่จังหวัดกำหนด และในวันนี้ (12 พฤษภาคม 2565) จังหวัดอำนาจเจริญได้จัดพิธีรับพระราชทานพระพลังแผ่นดิน ให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอทุกอำเภอ
พระพลังแผ่นดิน เป็นพระเนื้อผงทรงสามเหลี่ยม มีรูปแบบพุทธศิลป์ ด้านหน้าเป็นพระศรีศากยสิงห์หรือพระศรีอริยเมตไตรยเข้าสู่ยุคกึ่งพุทธกาล มีนาคพันพระอุระ หมายถึง ทรงโปรดทั้ง 3 ภพ (ไตรภูมิ) เลข 9 หมายถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เลข 10 หมายถึง พระทศพลญาณ พญาครุฑ หมายถึง ครุฑที่ดูแลชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทรงตบะบารมีอำนาจ ทำให้เกิดความสงบ ร่มเย็น เป็นสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน รูปจักร หมายถึง จัดสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์จักรี
เมื่อวันที่ (11 พฤษภาคม 2565) นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วย นางเบญจมาศ หะยาจันทา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ คณะอนุกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ร่วมประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครอง ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดอำนาจเจริญ (POC) ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ
พลเอก ประวิตร ย้ำว่า รัฐบาลตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญกรรมค้ามนุษย์ โดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ปี 58 โดยกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนทุกภาคส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องมา โดยเฉพาะการดำเนินการแก้ปัญหามิติต่างๆ ตามข้อเสนอแนะใน TIP Report ทั้งนี้ หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ได้ขยายผลสามารถสืบสวนจับกุมคดีค้ามนุษย์ได้ ถึง 188 คดีสูงกว่าปี 2563 โดยเฉพาะคดีทางสื่อออนไลน์และได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ ได้แก่ การคัดแยกผู้เสียหายการประชุมค่าสินใหม่ทดแทนในการพิจารณาคดีของศาลเป็นต้น
ขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันแก้ปัญหาและริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม จนนำไปสู่การยกระดับ มาตรฐานการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตามหลักสิทธิมนุษย์ชนและพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับได้ใช้ปฏิบัติการเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป ทั้งนี้ เป็นที่มั่นใจร่วมกันถึงความพยายามที่ไทยจะสามารถได้รับการพิจารณาจัดอันดับดีขึ้น เป็นเทียร์ 2 ในปี 2565
วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ปฏิบัติราชการติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรและติดตามการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการค้ารายย่อย/เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญพร้อมทั้งพบปะกลุ่ม/องค์กรเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตร สินค้าชุมชนของจังหวัดอำนาจเจริญ โดยในช่วงเช้าลงพื้นที่ บ้านนาผาง หมู่ที่ 6 ตำบลห้วย อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญและในช่วงบ่ายเดินทางลงพื้นที่อาคารศูนย์เรียนรู้ข้าวหอมมะลิอำนาจเจริญ สำนักงานเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีนายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูลให้ทางคณะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้รับทราบ
นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญได้รายงานข้อมูลทั่วไปของจังหวัดอำนาจเจริญว่าจังหวัดอำนาจเจริญกำหนดเป้าหมายการพัฒนาว่า "เมืองธรรมเกษตร การเกษตรสร้างมูลค่า ท่องเที่ยวเสริมสร้างสุขภาพ เชื่อมโยงเส้นทางการค้า แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ 56 ตำบล 607 หมู่บ้าน40 อบต. 1 อบจ. เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 23 แห่ง ประชากร 378,627 คน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ปี 2563 มูลค่า 20,459 ล้านบาท เป็น ภาคการเกษตร ร้อยละ 28.29 ภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 9.88 และภาคบริการ ร้อยละ 61.83 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี 72,573 บาท (ลำดับที่ 14 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลำดับที่ 68ของประเทศ) จังหวัดอำนาจเจริญ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,975,902 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 1.41 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุด 1,062,141 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และยางพารา สัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ สุกร เป็ด ไก่ และแพะ และสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลานิล และปลาตะเพียน ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอำนาจเจริญ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรปลอดภัย และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและการบริการของจังหวัด เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้ประชาชนสามารถแข่งขันและพึ่งตนเองได้ ปัจจุบันจังหวัดอำนาจเจริญสามารถขับเคลื่อนตามนโยบายโครงการประกันรายได้เกษตรกร ผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว เกษตรกรขึ้นทะเบียน 74,735 ครัวเรือน ได้รับเงินชดเชย จำนวน 1,554.91ล้านบาท ยางพารา เกษตรกรขึ้นทะเบียน 6,200 ครัวเรือน ได้รับเงินชดเชย 136 ครัวเรือน จำนวน 93,611.22 บาท เนื่องจาก พื้นที่บางส่วนยังไม่ถึงกำหนดกรีด (7 ปี) และราคาตลาดตามเกณฑ์อ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน มันสำปะหลัง เกษตรกรขึ้นทะเบียน 11,417 ครัวเรือน เนื่องจาก ราคาตลาดตามเกณฑ์อ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน เกษตรกรจึงไม่ได้รับเงินชดเชย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรขึ้นทะเบียน 172 ครัวเรือน เนื่องจาก ราคาตลาดตามเกณฑ์อ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน เกษตรกรจึงไม่ได้รับเงินชดเชย ปาล์มน้ำมัน เกษตรกรขึ้นทะเบียน 903 ครัวเรือน เนื่องจาก ราคาตลาดตามเกณฑ์อ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน เกษตรกรจึงไม่ได้รับเงินชดเชย
ทั้งนี้เกษตรกรในพื้นที่มีความพึงพอใจเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรของรัฐบาลและได้มีการนำเสนอให้มีการคิดคำนวนวงเงินประกันรายได้ผลผลิตทางการเกษตรใหม่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น
วันนี้ (29 เมษายน 2565) ที่ ห้องโถงชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานในพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 29 เมษายน 2565 โดยมี คณะตุลาการ อัยการ ทหาร ตำรวจ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมพิธีในครั้งนี้ ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
เนื่องด้วย วันที่ 29 เมษายน เป็นวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า จะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดี ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
วันนี้ (29 เมษายน 2565) เวลา 06.30 น. นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วย นางรัชชุมา บุตรโพธิ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอำนาจเจริญ นำหัวหน้าส่วนราชการและพุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญตักบาตรเพื่อถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 29 เมษายน 2565 โดยมีพระครูสิริสีลวัตร รองเจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ เจ้าอาวาสวัดอำนาจ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์นำพระภิกษุสามเณรออกรับบิณฑบาต ณ วัดอำนาจ บ้านอำนาจ ตำบลอำนาจ อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมกันนี้เพื่อให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าร่วมกันทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และธำรงไว้ให้มั่นคงสืบไป และเสริมสร้างความรักความสามัคคีของประชาชนในชาติให้มั่นคง ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
เมื่อวันที่ (28 เมษายน 2565) เวลา 10.00 น. นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยพันเอกอัครพนธ์ มูลประดับ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดอำนาจเจริญ นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ ปลัดจังหวัดอำนาจเจริญ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่วัดภูจำปา หมู่ที่ 8 บ้านภูจำปา ตำบลนาหมอม้า อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อพบปะกับผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาหมอม้า เพื่อรับฟังข้อมูลพร้อมเดินสำรวจพื้นที่วัดภูจำปาและร่วมหารือวางแผนแนวทางในการพัฒนาวัดภูจำปาแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักแห่งใหม่ของจังหวัดอำนาจเจริญ
ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ วัดภูจำปาแห่งนี้ เคยมีพระธุดงค์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เดินทางมาปักกรดพักอาศัย เพื่อปฏิบัติธรรมเป็นการชั่วคราวเพราะเป็นสถานที่เงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ซึ่งในเวลาต่อมามีพระสงฆ์นิยมมาจำพรรษาอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านพุทธศาสนิกชนในพื้นที่เกิดความเลื่อมใส ศรัทธา จึงได้ร่วมใจกันสร้างวัด ก่อสร้างพระพุทธรูปไว้สักการะบูชา และได้สร้างพระไม้พระครั่ง สะสมไว้ในถ้ำเป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้ยังมีตำนานเล่าขานกันว่าได้มีคู่รักหนุ่มสาวมาบนบานอธิษฐานรัก ด้วยการปลูกต้นจำปาหรือต้นลีลาวดีในปัจจุบัน บนลานหิน หากจะได้ครองรักกันก็ขอให้ต้นจำปาเจริญงอกงามออกดอกบานสะพรั่ง ให้ได้ชื่นชม จนเป็นที่มาของภูจำปา ซึ่งมีต้นจำปาเกิดขึ้นมากมายบนพะลานหิน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ดอกจำปาจะบานสะพรั่งสวยงามเป็นทุ่งป่าดอกจำปา เรียกได้ว่าเป็นตำนานรักทุ่งดอกจำปาก็ว่าได้ และวัดภูจำปาแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความเคารพศรัทธา หากผู้ใดคิดดี ปฏิบัติดี มาบนบานสานกล่าวขอให้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ก็จะสำเร็จผลในเวลาอันรวดเร็ว และที่สำคัญอีกอย่างคือการเสี่ยงทายด้านความรัก คือ ตั้งจิตอธิษฐานแล้วปลูกต้นจำปาในบริเวณวัด บนลานหินดาน ถ้าต้นจำปาที่ปลูกไว้ไม่ตาย แสดงว่าคำอธิษฐานนั้นจะเป็นจริง
นอกจากตำนานความเชื่อที่เล่าขานลืบทอดกันมาของผู้เถ้าผู้แก่จากรุ่นสู่รุ่น มาจนถึงปัจจุบัน วัดภูจำปาแห่งนี้ยังมีธรรมชาติที่งดงาม มีป่าไม้ที่ร่มรื่น มีจุดชมวิว มีเส้นทางธรรมชาติที่สวยงามให้ศึกษา ซึ่งมีโขดหิน หน้าผาและถ้ำต่างๆที่พระธุดงค์เคยใช้เพื่อปฏิบัติธรรม มีพันธุ์ไม้นานาชนิดให้ได้ศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะต้นดอกจำปาที่เกิดขึ้นบนลานหินและซอกหินต่างๆ มีมุมธรรมชาติที่สามารถถ่ายรูปสวยๆได้มากมาย เรียกได้ว่ามาที่เดียวก็เที่ยวได้เกินคุ้ม ได้ชมและสัมผัสธรรมชาติอันร่มรื่นและสวยงาม พร้อมทั้งได้ไหว้พระขอพร ทำบุญ ตามรอยสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระเกจิอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และยังสามารถเสี่ยงทายชะตาชีวิตตามความเชื่อของผู้เถ้าผู้แก่คนอีสานได้อีกด้วย
********************************************************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอำนาจเจริญ
วันนี้ (27 เมษายน 2565) เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์ประชุมพุทธอุทยานอำนาจเจริญ นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดอำนาจเจริญ ภาคประชาสังคม ร่วมกันสร้างการรับรู้ การประดิษฐ์ผีเสื้อที่ทำจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือผ้าตามอัตลักษณ์ของจังหวัด ที่มีขนาดและสีแตกต่างกันตามความเหมาะสม เพื่อนำไปประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
ทั้งนี้ จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับแจ้งจากกระทรวงมหาดไทย ว่ารัฐบาลได้กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยกำหนดจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ จะนำผีเสื้อที่ประดิษฐ์จากผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือผ้าตามอัตลักษณ์ของจังหวัด ไปประดับในการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ทางจังหวัด อำนาจเจริญ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ และคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้จัดทำการประดิษฐ์ผีเสื้อในครั้งนี้ขึ้น และเชิญชวนทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันประดิษฐ์ผีเสื้อโดยให้มีขนาดและสีให้แตกต่างกันตามความเหมาะสม จำนวนไม่น้อยกว่า 180 ตัว เพื่อนำไปประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ต่อไป
*********************************************************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอำนาจเจริญ
เมื่อวันที่ (25 เมษายน 2565) เวลา 16.00 น.นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นำหัวน้าส่วนราชการและนักท่องเที่ยวร่วมสักการะท้าวเวสสุวรรณและองค์พญานาคราช ณ บริเวณแก่งคันสูง หมู่ที่ 3 ตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญพร้อมตรวจเยี่ยมดูความเรียบร้อยและแนวทางการการปฏิบัติในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาใช้บริการเพื่อให้เป็นที่ประทับใจและนอกจากนี้ได้ยังหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในแนวทางการพัฒนาและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเพื่อประชาชนในพื้นที่จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง
แก่งคันสูง ตั้งอยู่บริเวณตำบลโคกสาร อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวริมฝั่งแม่น้ำโขง มีภูมิทัศน์โดยรอบที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ มีแก่งกลางลำน้ำโขงที่มีความสวยงาม ในช่วงฤดูน้ำลด ไฮไลท์ของการมาเที่ยวแก่งคันสูง คือ การได้นั่งทานอาหารบนเรือนแพลอยน้ำ ให้เลือกหลากหลายร้าน ไว้บริการนักท่องเที่ยวริมแก่ง สามารถมานั่งทานอาหารเอาขาจุ่มน้ำแบบเพลินๆ โดยอาหารที่ขายส่วนใหญ่เป็นเมนูอาหารอีสาน ทั้งส้มตำ น้ำตก ลาบ ปลาเผา ยำต่างๆ ชอบร้านไหนเดินไปสั่งอาหารแล้วนั่งชมวิวรับลมเย็นกันได้ นอกจากนี้หากน้ำลดมากๆ นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเล่นน้ำในลำน้ำโขงได้อีกด้วย ซึ่งก็เป็นกิจกรรมคลายร้อนที่ฮอตฮิต มีบริการเช่าห่วงยาง โดยนักท่องเที่ยวจะต้องเล่นน้ำอยู่ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กำหนด เพราะกระแสน้ำค่อนข้างไหลแรง และถ้าพ้นจากแก่งคันสูงไปแล้วก็จะเป็นลำน้ำโขงที่กว้างและลึกพอสมควร
นอกจากตัวแก่งคันสูงแล้วบริเวณด้านหน้าทางลงแก่งคันสูง มีพระพุทธรูปศักสิทธิ์ ท้าวเวสสุวรรณ และองค์พญานาคราชให้นักท่องเที่ยวได้สักการะอีกด้วย โดยท้าวเวสสุวรรณเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของอำเภอชานุมานและจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นตำนานเมืองยักษ์คุ ท้าวเวสสุวรรณ เป็นหนึ่งในบรรดาท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ อยู่ในฐานะอธิบดีแห่งอสูรหรือยักษ์ หรือเป็นเจ้าแห่งผี ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลโลกมนุษย์ รักษาสมบัติเทวโลก ปกครองเหล่ายักษ์ภูตผีปีศาจ รวมถึง ช่วยปกปักรักษาพระพุทธศาสนา ยังมี ความเชื่อถือกันอีกว่า ท้าวเวสสุวรรณ เป็น เทพแห่งขุมทรัพย์ และ มหาเทพแห่งความร่ำรวยมั่งคั่ง เหมาะแก่การบูชาเสริมดวง อำนาจบารมี ทรัพย์สินเงินทอง และความเจริญก้าวหน้า อีกทั้ง ชาวจีนยังเคารพนับถือท้าวเวสสุวรรณเป็น เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ซี่งในทุกๆปีจังหวัดอำนาจเจริญจะมีการจัดประเพณีแห่ยักษ์คุอย่างยิ่งใหญ่ในช่วงต้นเดือนเมษายน
จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสธรรมชาติริมฝั่งแม่น้ำโขง นั่งแพริมน้ำ เล่นน้ำคลายร้อน ชิมอาหารพื้นถิ่น ที่แก่งคันสูง อำเภอชานุมาน สำหรับข้อปฏิบัติของนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 อย่างเคร่งครัดตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อีกทั้งห้ามมีการนำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ไปดื่มและจำหน่ายภายในบริเวณแก่งคันสูงโดยเด็ดขาด
เมื่อวันที่ (26 เมษายน 2565) เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดอำนาจเจริญ (POC) ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอำนาจเจริญ นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ได้พบปะ ให้กำลังใจพร้อมอวยพรคณะนักกีฬาผู้สูงอายุและผู้ฝึกสอนของจังหวัดอำนาจเจริญ ก่อนที่จะเดินทางไปเข้าร่วมทำการแข่งขันกีฬาและนันทนาการผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 “ทุ้งฟ้าเกมส์” ระหว่างวันที่ 2 – 5 พฤษภาคม ณ จังหวัดกระบี่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญได้กล่าวให้กำลังใจแก่นักกีฬา ผู้ฝึกสอน และเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งอวยพรขอให้เดินทางไปเข้าร่วมการแข่งโดยสวัสดิภาพ ประสบชัยชนะทุกชนิดกีฬา และขอให้เล่นกีฬาอย่างมีน้ำใจของนักกีฬารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัยและมีน้ำใจเป็นนักกีฬา
สำหรับการแข่งขันกีฬาและนันทนาการผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 “ทุ้งฟ้าเกมส์” ระหว่างวันที่ 2 – 5 พฤษภาคม ณ จังหวัดกระบี่ จังหวัดอำนาจเจริญโดยสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอำนาจเจริญได้ส่งทีมนักกีฬาร่วมทำการแข่งขัน จำนวน 3 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย นักกรีฑา ชาย 4 คน หญิง 8 คน นักกีฬากอล์ฟ ชาย 4 คน และนักกีฬาเปตอง ชาย 2 คน หญิง 2 คน
******************************************************************
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอำนาจเจริญ